"ขอบคุณ" (คำที่หายไปจากปากคนไทย)
วันนี้ผมมีโอกาสได้เดินทางไปตากอากาศ(และมลพิษ)ระหว่างทางไป-กลับพันธุ์ทิพย์อีกครั้ง
การเดินทางครั้งนี้ได้เห็นเรื่องที่ทำให้ยิ้ม และเรื่องที่ทำให้ต้องเก็บมาครุ่นคิดด้วยเช่นกัน
เหตุการณ์ที่ว่าก็คือ เมื่อตอนขากลับจากพันธุ์ทิพย์ผมขึ้นรถประจำทางปรับอากาศแบบยูโร (รถส้ม) ที่หนึ่งป้ายก่อนถึงป้ายที่ผมต้องลง มีวัยรุ่นกลุ่มหนึ่ง คงอยู่ในวัยราวๆ เด็ก ม.๓-ม.๔ เพราะเห็นพวกเด็กผู้ชายหัวยังเกรียนๆ กันอยู่ เด็กผู้ชายคนหนึ่งได้ที่นั่ง ... และเขาพึ่งหย่อนก้นลงนั่งได้ไม่ถึงหนึ่งนาที ก็มีเด็กผู้หญิงวัยรุ่นน่าจะอายุไล่ๆ กันขึ้นมาบนรถ (คาดว่าพวกเขาคงมาเรียนพิเศษกันแถวนี้) เด็กวัยรุ่นชายคนนั้น จึงลุกให้สาวทึ่พึ่งขึ้นมานั่ง ผมหันไปมอง แล้วก็อมยิ้ม ... เพราะวัยรุ่นสาวคนนั้นหน้าตาน่ารัก ผิวขาว ส่วนวัยรุ่นชายที่ลุกให้นั่ง ก็ผิวขาว แต่หน้า...แดง...มาก... ผมเห็นหน้าเขาแดงตั้งแต่คางขึ้นไปจนถึงหน้าผากและใบหู .. นี่ถ้าหากโกนผมเขาออกให้หมด ก็อาจจะมองเห็นได้ว่า เลือดได้สูบฉีดอย่างแรงขึ้นไปเลี้ยงหัวเขาทั้งหัวเลยกระมัง (ลูกผู้ชายตัวจริง นิ่งๆ แต่จริงๆ ขี้อาย)
ส่วนเรื่องที่ทำให้เก็บมาครุ่นคิดคือเด็กสาวคนนั้นมิได้เอ่ยคำว่าขอบคุณ ... แต่ทำหน้างงๆ (หรืออาจจะเขิน)
ผมนำเรื่องนี้กลับมาคิดตลอดทางที่เดินจากป้ายรถเมลที่ผมลง จนกลับมาถึงร้าน ... ลองนึกๆ ย้อนไปหลายๆ ครั้งที่ผมลุกให้คนที่คิดว่าสมควรจะได้นั่ง (เด็ก สตรีมีครรภ์ คนชรา ผู้พิการ ฯลฯ) มีบ่อยครั้งที่ผมไม่ได้ยินเขากล่าวคำว่าขอบคุณ หรือบางครั้งที่เห็นคนอื่นๆ ลุกให้คนอื่นๆ ได้นั่ง ผมก็ไม่ค่อยได้ยินคำว่าขอบคุณจากผู้ที่ได้รับการเอื้อเฟื้อนั้นเลย ... ซึ่งผมก็ไม่ได้ติดใจอะไรจนกระทั่งวันนี้
สิ่งที่ทำให้ผมคิดก็คือ ... มันเป็นหน้าที่หรือเปล่าที่เราจะต้องลุกให้คนอื่นนั่ง? บางทีเราก็ป่วย เราก็ไม่ได้แข็งแรงและต้องการที่นั่งเหมือนกัน แต่เราก็ยังลุกให้คนที่เราคิดว่าสมควรมีที่นั่งเพื่อความปลอดภัยในชีวิตของเขา หรือเพื่อความสุขสบายของเขา ... เราทำเพื่ออะไร? ทำเพื่อความดี? ทำเพื่อรู้สึกว่าเราเป็นคนดี? เราทำเพื่อเสริมอัตตาของเราเองว่ากูเป็นคนดี?
เคยได้อ่านเรื่องขำขันเรื่องหนึ่ง ... นานมาแล้ว เรื่องมีอยู่ว่า เหตุการณ์เกิดขึ้นบนรถเมล์ มีชายคนหนึ่งลุกให้หญิงสาวที่พึ่งขึ้นมาใหม่ได้นั่ง แล้วเขาก็โน้มตัวลงไปถามหญิงสาวคนนั้นว่า
"ตะกี้คุณพูดว่าอะไรนะครับ?"
เธอสวนกลับมาว่า "เปล่า ชั้นไม่ได้พูดอะไรสักคำ"
"อ๋อ เหรอครับ .. ผมนึกว่าผมได้ยินคุณพูดคำว่า 'ขอบคุณ' เสียอีก"
สงสัยว่าคราวต่อๆ ไป อาจจะต้องนำมุขนี้ไปใช้บ้าง
8 Comments:
คนเคยอยู่ ตจว. จะรู้ดี ว่าเรื่องนี้ยังไม่หายไปไหน รถเมล์ขอนแก่นยังมีภาพของผู้ชายลุกให้ผู้หญิง เด็ก ผู้สูงอายุ ได้นั่งเสมอ รวมทั้งผู้ที่ได้รับการเสนอที่นั่งก็พูดขอบคุณอย่างยิ้มแย้ม และอาจจะช่วยถือของให้ด้วย ตรงกันข้าม ผู้ชายที่นั่งแล้วไม่ยอมลุกจะรู้สึกนั่งไม่ติด ประมาณว่าเริ่มไม่มั่นใจในความเป็นชายชาตรีของตัวเอง ผมยังอมยิ้มบ่อยๆ เวลาขึ้นรถเมล์ที่นี่ ว่าขนาดไม่ได้นั่งมาตั้งหลายปี กลับมาทุกอย่างก็ยังเหมือนเดิม :-)
อืม .. งั้นผมคงต้องเปลี่ยนหัวข้อใหม่ เป็น ... "ขอบคุณ" (คำที่หายไปจากปากคนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ยกเว้นพนักงาน 7-11) :)
คุณเทพโพสมาแบบนี้ ยิ่งอยากกลับไปอยู่ขอนแก่นเร็วๆ ...
ผมมองว่าเรื่องนี้เป็นเพราะสภาวะของคนแปลกหน้า เราไม่พูดกับคนแปลกหน้า
ทุกคนบนรถเมล์ดูเหมือนเป็นคนแปลกหน้าไปหมด
ผมเองเคยลุกให้คนท้องนั่ง แล้วคนท้องโดนคนแก่แย่งนั่งทั้ง ๆ ที่คนท้องได้บอกขอบคุณผมแล้ว คนในรถก็ตะโกนด่าคนแก่ ดีที่มีอีกคนลุกให้คนท้องนั่ง เรื่องจึงจบ ถามว่าสนใจไหมกับคำขอบคุณ แล้วรู้สึกอะไรเอื้อเฟื้อไหม ก็ไม่ แต่รู้สึกว่า
เป็นหน้าที่ ทำให้ผมไม่ได้รู้สึกอะไรที่ผมลุกให้คนหนึ่งนั่ง แต่อีกคนมานั่งแทน เพราะผมได้ทำหน้าที่แล้ว ที่ผมกลายเป็นอย่างนั้นเพราะตอนนั้นผมพูดคุยกับคนน้อยมาก อันนี้พูดถึง
ในฐานะเพื่อนฝูง คนรู้จัก วันนี้เอาแต่สนใจงานที่ทำและคอมพิวเตอร์
เมื่อเป็นเช่นนั้น ความเป็นคนของเราจึงลดน้อยลงไป เราก็ต้องหาทางเติมความเป็น
คนเข้าไปครับ การพูดถึงเรื่องนี้บ่อย ๆ ให้คนอื่นได้ตะหนักถึงก็เป็นวิธีการหนึ่งที่จะ
เตือนตัวเองว่าตัวเองต้องทำให้เป็นตัวอย่างก่อน
คุณหน่อยตั้งชื่อบล็อกได้ถูกแล้วครับ เพราะถึงแม้จะเป็นที่กรุงเทพฯและเมืองใหญ่
เท่านั้น แต่เชื่อได้แน่ว่าคนเมืองใหญ่เมืองนี้ย่อมต้องมีคนขอนแก่นอยู่ด้วยไม่น้อย
แต่ด้วยเรื่องราว และบทวิเคราะห์ ย่อมต้องทำให้หลายคนที่เผอิญแวะเวียนมาอ่าน
ย่อมต้องคิดถึงเรื่องเหล่านี้แล้ว เติมความเป็นคนของตัวเองให้มีมากขึ้นหลังจากที่
มันได้รั่วไหลไปบ้าง อย่างน้อยก็ผมคนหนึ่งแหละ
โดย อานนท์
ทำไม blog คุณ Noi มัน โคตร จะ ชิด ติดขอบ เลย วะ.
ขอบซ้าย.
ซ้ายจัด.
คุณอานนท์โพสมาแบบนี้ ทำให้ผมนึกถึงเรื่อง "ซ้ายล่าสุด" ของคุณวาณิช จรุงกิจอนันต์ ในหนังสือรวมเรื่องสั้นรางวัลซีไรต์ ๒๕๒๗ ชุดซอยเดียวกันเลย .. เคยอ่านไหมครับ? :)
แหะ ผมไม่ได้มาแยกคนกรุงเทพฯ-ตจว ออกจากกันนะครับ ผมว่ามันเป็นธรรมเนียมของแต่ละสังคมไป อย่างถ้าคนกรุงเทพฯ มาอยู่ขอนแก่น แล้วมานั่งรถเมล์สักพัก ก็น่าจะปรับตัวตามเหมือนกัน หรืออย่างคนขอนแก่นเข้ากรุงเทพฯ ก็จะปรับพฤติกรรมเป็นอีกแบบ ความจริงตอนเข้ากรุงเทพฯ ผมไม่กล้าลุกให้ผู้หญิงนั่ง แต่กับเด็ก คนสูงอายุ หรือคนท้องเนี่ย ลุกให้เลย ที่ไม่กล้าลุกให้ผู้หญิงนั่ง เพราะกลัวเขานึกว่าผมเห็นเขาแก่น่ะ เคยเห็นเพื่อนผู้หญิงมาบ่นให้ฟังเหมือนกัน เวลามีคนลุกให้บนรถเมล์ "ตายแล้ว นี่ชั้นแก่ขนาดมีคนลุกให้นั่งเชียวหรือนี่" ประมาณนั้น
ปกติผมก็ลุกให้นะ
ยกเว้น นานๆ ที บางครั้งที่รู้สึกว่าตัวเองอ่อนแอ แบบว่าเหนื่อยหรือไม่สบายอะไรซักอย่าง ก็ขอนั่งหน่อยเหอะ
ถึงแม้จะลุกให้นั่งเป็นปกติ แต่บางทีผมก็เขินนะ
บางครั้งก็เลี่ยงไปยืนห่างๆ จากที่นั่งเดิม
หรือไม่ก็ทำเป็นกำลังจะถึงป้ายที่จะลงแล้ว ทำนองนี้
ไม่รู้เขินทำไมเหมือนกัน -_-"
ครับ! เราต้องยอมรับความจริงอันโหดร้ายหน่อยว่า
"มันเป็นหน้าที่" ครับ
Post a Comment
<< Home